Last updated: 8 Jun 2021 | 4394 Views |
ปลาสวยงาม เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ยังมีลู่ทางในการขยายตลาดส่งออก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไทยมีปัจจัยพื้นฐานในเรื่องความพร้อมทางศักยภาพการเลี้ยงและการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามที่สำคัญของโลกได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ซึ่งปัจจุบันประเทศที่นำเข้าปลาสวยงามหันมาสั่งซื้อปลาสวยงามจากไทยมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการสั่งซื้อผ่านทางสิงคโปร์ ดังนั้นการเจาะขยายตลาดปลาสวยงามโดยตรง จะทำให้ปลาสวยงามของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และปลาสวยงามของไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งในด้านความหลากหลายของสายพันธุ์ ความสวยงาม ราคาไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และมีการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงรวมทั้งการควบคุมคุณภาพ และการกักกันโรคของปลาสวยงามในการส่งออกให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามการแข่งขันในการส่งออกปลาสวยงามในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้มข้น โดยคู่แข่งรายเดิมอย่างสิงคโปร์ก็ยังคงเร่งพัฒนาเพื่อรักษาตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามมากที่สุดในโลกต่อไป ในขณะที่คู่แข่งที่กำลังมาแรงอย่างมาเลเซีย และเวียดนามต่างกำหนดแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดปลาสวยงาม โดยมีเป้าหมายในการเจาะขยายตลาดส่งออก และเป็นศูนย์กลางการผลิตปลาสวยงามที่มีคุณภาพอันดับหนึ่งของโลก
โดยกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ในการส่งออกปลาสวยงามที่มีชีวิตไว้ดังนี้
ขอบเขตในการควบคุม : ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิตรวม 317 ชนิด (ตามรายชื่อในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์)
ระเบียบและหลักเกณฑ์การส่งออก
ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิตตามบัญชีท้ายประกาศนี้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ จากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแสดงประกอบพิธีการศุลกากร
(1) หนังสือรับรองว่าเป็นปลาทะเลสวยงามที่ได้จากการเพาะพันธุ์
(2) หนังสือรับรองว่าเป็นปลาทะเลสวยงามที่ได้จากการนำเข้า
(3) หนังสือรับรองว่าเป็นปลาทะเลสวยงามที่ส่งออกเพื่อการศึกษาวิเคราะห์ หรือกรณีอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการค้า
หนังสือรับรองข้างต้นอย่างน้อยต้องแสดงชนิดของปลาทะเลสวยงามตามบัญชีท้ายประกาศนี้ และปริมาณของปลาทะเลสวยงามที่ได้รับการรับรองตามข้อ (1) (2) และ (3) แล้วแต่กรณี
แหล่งอ้างอิงข้อมูล : กระทรวงพาณิชย์
16 Jun 2021
8 Apr 2024